Trade your way to FINANCIAL FREEDOM 8 - 10

บทที่ 8 หน้าเทรด จุดเริ่มต้นของระบบเทรด

หน้าเทรด คือ เงื่อนไขต่าง ๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์อื่นใด เงื่อนไขที่เกิดขึ้นบนหน้าเทรดนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเราะบบเทรดส่วนใหญ่นั้นใช้หน้าเทรดเป็นจุดตัดสินใจในการเข้าเทรด หรือออกจากการเทรด

5 เรื่องที่ต้องพิจารณาจุดเข้าเทรด

หนึ่ง, เงื่อนไขที่เหมาะสมกับระบบ กล่าวคือระบบเทรดนั้นออกแบบมาสำหรับตลาดแบบไหน เช่น ระบบที่ใช้ในช่วงตลาดหมี ระบบที่ใช้สำหรับตลาดกระทิง หรือ ระบบที่ออกแบบมาสำหรับตลาดที่อยู่ในลักษณะ Side way เงื่อนไขที่กำหนดขึ้นมานั้นต้องสัมพันธ์กัน เช่นถ้าออกแบบระบบสำหรับใช้ในช่วงตลาดหมี ต้องกรองเอาหุ้นที่ PE สูง ๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะลงมากกว่าหุ้นที่มี PE ต่ำ ๆ เป็นต้น

สอง, เลือกตลาดที่จะเข้าเทรด องค์ประกอบที่ควรพิจารณาสำหรับตลาดที่จะเข้าเทรดนั้นประกอบด้วย

  1. Liquidity หรือสภาพคล่องของตลาด ตลาดที่มีสภาพคล่องสูงนั้น การซื้อขายทำได้โดยง่าย ในทางตรงกันข้าม ตลาดที่มีสภาพคล่องต่ำนั้น การซื้อขายทำได้ยาก การซื้อขายไม้ใหญ่ ๆ นั้นส่งผลต่อราคาอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญเจ้ามือคุมได้ง่าย
  2. ความสดใหม่ของตลาด โดยพื้นฐานแล้วเราควรหลีกเลี่ยงตลาดที่เพิ่มเกิดใหม่ เพราะความจำกัดของข้อมูลข่าวสารที่มี บางคนอาจจะเชี่ยวชาญพวกหุ้น IPO ซึ่งบางตัวอาจจะขึ้นอย่างบ้าคลั่ง แต่บางตัวก็ลงอย่างโหดร้ายเช่นกัน
  3. ทำความรู้จักตลาดอย่างถ่องแท้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฏเกณฑ์ ผู้ดูแล ประวัติต่าง ๆ แล้ววางแผนรับมือไว้ล่วงหน้า
  4. ความผันผวนของตลาด สำหรับการเทรดแบบรายวัน ตลาดนั้นต้องมีความผันผวนสูงระดับหนึ่ง ถึงจะสามารถทำกำไรได้
  5. มูลค่าของตลาด มูลค่าของตลาดนั้นมีผลต่อการเทรด ตลาดขนาดเล็กที่มีมูลค่าไม่กี่ล้านเหรียญนั้นมีความผันผวนสูงกว่าตลาดขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญ
  6. ลักษณะของตลาดนั้นตรงกับหลักการเทรดของเรามากแค่ไหน ต้องหาตลาดที่ตรงตามหลักการเทรดที่กำหนด เช่นถ้าหลักการเทรดคือ Trend Following เราต้องหาตลาดที่มีแนวโน้มที่ชัดเจนเป็นต้น
  7. ตลาดในพอร์ตต้องเป็นอิสระจากกัน กล่าวคือ ตลาดที่จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากตลาดอื่น เพราะเวลาขึ้นหรือลงมันจะไปในทิศทางเดียวกัน [Root: ถ้าเป็นหุ้นคือ ไม่ซื้อหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน เป็นต้น]

สาม, ทิศทางตลาด วิธีที่จะดูว่าตลาดกำลังวิ่งไปในทิศทางไหนนั้นต้องดูกราฟของตลาดย้อนหลังไปอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนการเข้าเทรดนั้นเราต้องรู้ก่อนว่าเรากำลังจะเล่นกับอะไรอยู่ ตลาดนั้นมีอยู่สามทิศทางเท่านั้นคือ ขาขึ้น ขาลง และไซด์เวย์ออกข้าง อย่าลืมว่าตลาดที่มีเทรนชัดเจนนี้มีเพียง 30% เท่านั้น ที่เหลือคือไซด์เวย์ ถ้าเราอยากเทรดบ่อย ๆ แต่กรองตลาดแบบไซด์เวย์ออกไป แน่นอนว่าระบบจะให้คุณนั่งดูเฉย ๆ เสีย 70% ของเวลาทั้งหมด

สี่, เงื่อนไขของหน้าเทรด คือเงื่อนไขที่จะเกิดขึ้นก่อนที่จะนำไปสู่การเข้าเทรด ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ขึ้นอยู่กับหลักการเทรด มันช่วยเพิ่มโอกาสให้การเทรดนั้นประสบความสำเร็จตามหลักการที่วางไว้ หลักการเทรดเป็นวิธีการในการทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เราเดินไปในทิศทางเดียวกับตลาด

ห้า, จังหวะเวลาที่เหมาะสม คือประเด็นหลักที่สำคัญข้อสุดท้าย การเข้าเทรดในจังหวะที่เร็วเกินไปนั้นเสี่ยงที่ตลาดจะไม่ไปในทิศทางที่คาดเดา ทางทีดีคือควรรอให้ตลาดแสดงออกให้ชัดเจนถึงทิศทางที่จะไปก่อน ค่อยเข้าเทรด

หน้าเทรดสำหรับติดตามตลาด

หน้าเทรดนี้เป็นหน้าเทรดที่ใช้ในกรอบเวลาที่แคบ ๆ เพื่อหาจุดเข้าเทรดที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งมีอยู่หลายแบบ แต่ผู้เขียนจะยกมาอธิบายเพียงสามแบบคือ

"Failed-Test" Setup คือการใช้การ Breakouts หลอก หรือ ความล้มเหลวจากการเบรคทะลุจุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดก่อนหน้า เพราะหลังจากเกิดความล้มเหลวจะเกิดแพทเทิร์นต่าง ๆ ที่อาจจะบ่งชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการเข้าเทรด

จุดที่ตลาดวิ่งไปทดสอบจุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดก่อนหน้านั้นมักจะเป็นจุดที่ถูกกำหนดให้เป็นจุดเข้าเทรด ซึ่งจะทำกำไรได้มากหากทะลุผ่านไปได้ หลักการนี้เรียกว่า Breakouts แต่หลักการนี้ก็ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป ทุกครั้งที่เกิดการ Breakout มักจะตามมาด้วยการ Pullback หรือการปรับตัวลดลงของราคา เราสามารถหาจังหวะเล่นเก็งกำไรระยะสั้น หน้าเทรดนี้จึงเหมาะกับคนที่ต้องการเล่นแบบ Day Trade หรือ Swing Trade เท่านั้น

Climax Reversals or Exhaustion Pattern Setups หน้าเทรดนี้ใช้หลักการเดียวกันกับ Failed-Test Setups เพียงแต่เปลี่ยนจากการทดสอบแนวต้านจุดสูงสุดต่ำสุดก่อนหน้า เป็นการวัดพลังในการขึ้นแทน โดยการพิสูจน์ว่าจุดสูงสุดในปัจจุบันคือยอดสูงสุดของรอบ หนึ่งในสัญญาณที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการเปิดแกปของราคา

Retracement Setups หน้าเทรดนี้ประกอบด้วยสามส่วนคือ หนึ่งการค้นหาเทรนในระยะยาว สอง มองหารอบการปรับตัวลดลงของราคา สามเข้าเทรดตามทิศทางของราคา

Don't buy on breakouts. Wait for the retracement test.

ตัวกรองกับหน้าเทรด

ตัวกรองคือ Indicator ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นเงื่อนไขในการเข้าเทรด ซึ่งต้องเกิดขึ้นก่อนการเข้าเทรดจริง ตัวกรองนั้นอาจจะสามรถช่วยทำนายตลาดย้อนหลังได้ แต่ไม่ได้มีประโยชน์มากนักกับการเทรด สาเหตุก็เพราะว่าคนเรานั้นมักจะมีอคติแบบ Lotto คือต้องการค้นหาความสมบูรณ์แบบของสัญญาณในการเข้าเทรด ซึ่งจะทำให้รู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมตลาดได้ ดังนั้นเมื่อมองข้อมูลย้อนหลัง เราจึงมีแนวโน้มที่จะปรับแต่ง Indicator ต่างๆ ให้เข้ากับข้อมูลเหล่านั้น ความแม่นยำจากการปรับแต่ง Indicator ยิ่งตอกย้ำให้เราเชื่อว่าจะสามารถใช้มันทำนายอนาคตข้างหน้าได้ ยิ่งใช้ Indicator มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งก่อให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น แต่ท้ายที่สุดเทรดเดอร์จะค้นพบว่า มันไม่ได้ช่วยให้การเทรดดีขึ้น

โดยทั่วไปแล้ว ระบบมีความเรียบง่ายนั้นกลับยิ่งช่วยให้การเทรดดีขึ้น แต่ระบบที่เรียบง่ายนั้นไม่ได้หมายถึงการไม่ใช้ Indicator เลย แต่คือการใช้ Indicator ให้ตรงกับประเภทของข้อมูล นี่คือข้อแตกต่างของการใช้ Indicator เป็นเพียง Filter หรือตัวกรอง กับการใช้ Indicator สำหรับเป็นหน้าเทรด

Filter หรือตัวกรองนั้นเป็นการใช้ Indicator หลายตัวซ้ำๆ กันกับข้อมูลชุดเดียวกัน ส่วน Setups หรือหน้าเทรดนั้นเป็นการเลือกใช้ Indicator ตามประเภทของข้อมูล

ประเภทของข้อมูล

Time Setup ข้อมูลเรื่องเวลานั้นช่วยคาดเดาว่าการเคลื่อนไหวของราคานั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องวงรอบการเคลื่อนไหวของราคาตามฤดูกาลเป็นต้น

Price Data in Sequence ข้อมูลราคานั้นจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมันเรียงตามลำดับเวลาอย่างถูกต้อง การเรียงตัวของราคาก่อให้เกิดข้อมูลรูปแบบราคา หรือ Trend เทรดเดอร์สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการคาดเดาทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Fundamental Data ข้อมูลพื้นฐานของสินค้า เช่นความต้องการของตลาด ปริมาณการส่งออกหรือนำเข้า เป็นต้น [Root: สำหรับการเทรด Futures ของสินค้าโภคภัณฑ์ เช่นถั่วเหลือง ข้าวโพด เป็นต้น]

Volume Data ปริมาณการซื้อขายที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนถึงความคึกคักของตลาด

Component Data ตลาดนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง ข้อมูลจากองค์ประกอบบางอย่างของตลาด สามารถชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของตลาดได้ ยกตัวอย่างเช่นตลาดหุ้น การเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดนั้นเกิดจากผลรวมค่าเฉลี่ยของการเคลื่อนไหวของหุ้นในตลาดทั้งหมด การที่ตลาดขึ้นนั้นไม่ได้หมายความว่าหุ้นทุกตัวในตลาดจะขึ้น การวิเคราะห์จำนวนหุ้นที่ขึ้นเทียบกับจำนวนหุ้นที่ลง ปริมาณการซื้อขายของหุ้นที่ขึ้นเทียบกับปริมาณการซื้อขายของหุ้นที่ลง อาจช่วยให้การทำนายทิศทางตลาดแม่นยำขึ้น

Volatility ข้อมูลความผันผวนนั้นสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนกิจกรรมที่เกิดขึ้นในตลาด โดยอ้างอิงจากความกว้างของช่วงราคาหลัก ช่วงที่ราคาพักตัวอยู่ในกรอบแคบ ๆ นั้นเราสามารถใช้ Indicator บางตัวเข้าช่วย เพื่อหาจังหวะเข้าที่เหมาะสม เช่น ADX เป็นต้น

Business Fundamentals ข้อมูลพื้นฐานทางธุรกิจ เช่นบริษัททำอะไร รายได้เท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ เป็นต้น Warren Buffett นั้นใช้การวิเคราะห์พื้นฐานของบริษัทเป็นหลักในการตัดสินใจเข้าเทรด

Management Information ข้อมูลผู้บริหาร และประวัติการบริหารงานที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือกองทุน เราต้องรู้ว่าเราเอาเงินไปลงทุนกับใคร ซื้อหุ้นของบริษัท ต้องรู้ว่าใครคือผู้บริหารบริษัท ซื้อกองทุนต้องรู้ว่าใครคือผู้จัดการกองทุน

หน้าเทรดที่ทุกคนรู้จัก

หน้าเทรดที่ใช้สำหรับตลาดหุ้นนั้นมีอยู่สองแบบที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็คือ หลักการ CANSLIM ของ William O'Neil กับหลักการของ Value Model ของ Warren Buffett

CANSLIM นั้นเป็นเป็นการเทรดตามเทรน ในที่นี้เราจะไม่กล่าวถึงหลักการพื้นฐานหรือทฤษฏีต่าง ๆ แต่จะพูดถึงการพิจารณาใช้โมเดลนี้เป็นหน้าเทรด โดยคำว่า CANSLIM เป็นตัวย่อของคำดังต่อไปนี้

  • C : Current earnings per share กำไรต่อหุ้น ณ ปีปัจจุบัน ต้องเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 70% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (QOQ)
  • A : Annual earnings per share กำไรต่อหุ้นในแต่ละปีแบบทบต้นต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 24% ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
  • N : New thing in the company บริษันต้องมีสิ่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์, บริการ, การบริหารงาน เป็นต้น
  • S : Shares outstanding จำนวนหุ้นที่มีในตลาด จากการศึกษาของ O'Neil พบว่าหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีโดยเฉลี่ยจะมีจำนวนหุ้นน้อยกว่า 12 ล้านหุ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8 ล้านหุ้น, เงื่อนไขอีกข้อของโอนีลคือ จำนวนหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อยกว่า 25 ล้านหุ้น
  • L : Leader หุ้นในกลุ่มผู้นำ อันดับการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นโดยอ้างอิงจาก Relative Strange ในช่วง 12 เดือนล่าสุด หรือบางคนอาจใช้เวลา 30 วัน ต้องไม่น้อยกว่า 80%
  • I : Institutional  sponsorship ต้องมีสถาบันเข้ามาถือหุ้น
  • M :  Market ราคาหุ้นต้องวิ่งไปในทิศทางเดียวกับตลาด

ส่วน Value Model ของ Warren Buffett นั้นเน้นไปที่การซื้อธุรกิจของบริษัทมากกว่าแค่การซื้อหุ้น ดังนั้นเงื่อนไขในการเข้าซื้อจึงประกอบไปด้วย

  1. ธุรกิจของบริษัทต้องเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนจนเกินกว่าจะทำความเข้าใจได้
  2. บริษัทต้องประวัติการดำเนินงานที่สม่ำเสมอ เพราะเขาต้องการลงทุนในระยะยาว
  3. บริษัทนั้นต้องสามารถขึ้นราคาผลิตภัณฑ์หรือบริการได้โดยไม่ต้องกลัวเสียลูกค้า
  4. ผู้บริหารต้องมีความซื่อสัตย์ การบริหารงานต้องมีความโปร่งใส
  5. การบริหารเงินทุนของบริษัทที่มีประสิทธิภาพ มีการจัดสรรเงินทุนที่สมเหตุสมผล
  6. ผู้บริหารมีหัวก้าวหน้า มีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงตนเองเสมอ
  7. ROE (Return on Equity) สูง หนี้สินน้อย
  8. ส่วนของเจ้าของ (Owner Earnings) เพิ่มขึ้น
  9. กำไรเพิ่มขึ้น ผู้บริหารต้องรู้จักวิธีในการลดต้นทุนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้บริษัทมีกำไรที่เพิ่มขึ้น

โดยทั้ง 9 ข้อนั้นแบ่งออกเป็นสามหมวดหมู่คือ ธุรกิจ, ผู้บริหาร, และฐานะทางการเงินของบริษัท

ส่วนหน้าเทรดสำหรับฟิวเจอร์นั้นมีหลากหลาย ซึ่งอยู่นอกข่ายความสนใจของผม

บทที่ 9 จังหวะเวลาที่เหมาะสมในการเข้าซื้อ

Avoiding mistakes makes people stupid and having to be right makes you
obsolete. - Robert Kiyosaki

ซื้อหุ้นได้ ถูกตัว ถูกเวลา ในราคาที่เหมาะสม

ในการออกแบบระบบเทรดนั้น สิ่งที่นักออกแบบแทบทั้งหมด (95%) โฟกัสคือความแม่นยำของจุดเข้าซื้อ แต่ความแม่นยำเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถทำให้เทรดเดอร์อยู่รอดในตลาดได้เหมือนที่เคยกล่าวไปแล้ว ต่อให้ค่าความแม่นยำจะสูงแค่ใหน ค่าความคาดหวังก็มีโอกาสที่จะเป็นลบได้ กุญแจสำคัญในการทำเงินจากตลาดคือ การค้นหาหุ้นที่มีค่าความคาดหวังที่เป็นบวกสูง และกำหนดขนาดในการเทรดให้เหมาะสม เท่านั้น ถึงจะทำให้อยู่รอดและเติบโตในตลาดในระยะยาวได้ จุดเข้านั้นเป็นเพียงองค์ประกอบเล็ก ๆ เท่านั้น แต่ถึงแม้มันจะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ แต่ถ้ามันช่วยเพิ่มโอกาสชนะในการเทรด ก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะมองข้าม ไม่ศึกษา

สิ่งสำคัญที่สุดของระบบเทรดนั้น ไม่ใช่การหาจุดเข้า แต่คือการค้นหาจุดออกจากการเทรด และการกำหนดขนาดในการเข้าเทรด - Tom Basso

การเข้าเทรดนั้นมีอยู่สองแบบ หลัก ๆ คือการเข้าเทรดแบบสุ่ม และการเข้าเทรดแบบอาศัยสัญญาณทางเทคนิค ผลจากการศึกษานั้นพบว่าสัญญาณทางเทคนิคบางอย่างนั้นช่วยให้อัตราชนะในการเทรดสูงขึ้น แต่ผมจะไม่ลงลึกไปในรายละเอียดของเทคนิคต่าง ๆ เหล่านั้น หากท่านใดสนใจ ก็สามารถหาอ่านเพิ่มเติมจากหนังสือได้โดยตรง

ออกแบบจุดเข้าเทรด

จุดเข้าเทรดที่เหมาะสมของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ดังนั้นทุกคนต้องค้นหาหรือออกแบบจุดเข้าเทรดที่เหมาะสมกับตนเองขึ้นมาเอง การออกแบบจุดเข้าเทรดนี้ผู้เขียน ยกตัวอย่างการออกแบบโดยใช้หลักการทางฟิสิกส์เรื่องการเคลื่อนที่ของวัตถุ เราไม่รู้ว่าวัตถุนั้นจะเคลื่อนที่ไปถึงใหน แต่เรารู้ตำแหน่งปัจจุบัน, ทิศทาง และ ความเร็ว ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้เราสามารถทำนายตำแหน่งในอนาคตของวัตถุนั้นได้

บทที่ 10 รู้ว่าเมื่อไหร่ควรหมอบเพื่อรักษาเงินทุน

Your protective stop is like a red light. You can go through it, but doing so
is not very wise! If you go through town running every red light, you
probably won’t get to your destination quickly or safely. - Richard Harding

การเข้าเทรดนั้นยาก แต่การออกจากสถานะเทรดนั้นยากกว่า ไม่ว่าการออกนั้นจะเป็นการ Cut/Stop loss หรือ Take profit มันเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการทำเงินจากตลาดดังกฎทองที่กล่าวไว้ว่า

Cut your losses short and let your profits run.

สิ่งที่เทรดเดอร์ส่วนใหญ่คิดถึงมากที่สุดนั่นคือการค้นหาจุดเข้าเทรดและหน้าเทรดที่เพอร์เฟค แต่สองอย่างนี้ไม่สามารถทำให้คุณประสบความสำเร็จได้ จุดขายและการกำหนดขนาดการเทรดที่เหมาะสมเท่านั้นถึงจะทำให้คุณร่ำรวยจากการเทรด ตามความเห็นของผู้เขียน เทรดเดอร์จะเทรดอย่างเป็นระบบอย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อเขารู้จุดที่จะออกจากการเทรด ตั้งแต่ตอนเข้าเทรดแล้วเท่านั้น

The whole secret to winning in the stock market is to lose the least amount possible when you’re not right. - William O'Neil

Stop loss ทำงานอย่างไร?

เมื่อเรากำหนดจุด Stop loss นั่นหมายถึงเรากำลังทำสิ่งสำคัญมากๆ สองประการ หนึ่งคือการกำหนดจำนวนเงินมากที่สุดที่เราสามารถสูญเสียได้จากการเทรด สองคือ การกำหนดเกณฑ์สำหรับใช้วัดผลกำไรที่จะได้จากการเข้าเทรด ในการกำหนดจุดออกจากตลาดนั้นมีเงื่อนไขบางประการที่เราจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

Going beyond the Noise กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดในแต่ละวันนั้นส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาณรบกวน หรือ Noise การกำหนดจุด Stop loss นั้นจึงควรอยู่นอกเหนือช่วงสัญญาณรบกวนเหล่านี้ กิจกรรมในตลาดในแต่วันนั้นสะท้อนออกมาในรูป Average true range (ATR) โดยการหาช่วงสัญญาณรบกวนนั้นจะใช้ค่าเฉลี่ย 10 วันของ ATR คูณด้วยช่วง 2.7 ถึง 3.4 เราจะได้จุด Stop loss ที่ปลอดภัยจากสัญญาณรบกวนในแต่ละวัน อย่างไรก็ตามการกำหนดจุด Stop loss ควรพิจารณาเรื่องของ Position Sizing ควบคู่ไปด้วย

Your stop controls your risk per unit. However, your position sizing
controls your total risk.

Maximum Adverse Excursion จุดขาดทุนสูงที่สุดของแต่ละการเทรด ความสำเร็จในการเทรดนั้นขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของราคาหลังเข้าเทรดมากกว่าจุดเข้าเทรด MAE นั้นช่วยให้เราสามารถปรับปรุงจุด Stop loss ให้เหมาะสม [Root: จากตัวอย่างที่ผู้เขียนยกมา ถ้า MAE สูง MFE มันจะต่ำ ซึ่งหมายถึงกำไรจะน้อยกว่าและใช้เวลานานกว่าที่จะพลิกกลับมากำไร] - รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับ MEA, MFE

Tight Stops นั้นควรใช้เฉพาะในกรณีพิเศษ เช่นช่วงการกลับตัวของแนวโน้มใหญ่เป็นต้น เป็นการตั้ง Stop loss ที่แคบมาก ทำให้ต้องออกจากการเทรดบ่อย แต่เงินที่เสียในแต่ละครั้งนั้นน้อย แต่ผลตอบแทนนั้นมากมายมหาศาล ถ้าการคาดการณ์ทิศทางของเทรนนั้นถูกต้อง ผลที่ตามมาจากการเข้าเทรดบ่อย ๆ คือค่าใช้จ่ายในการเทรดที่สูงขึ้นและอัตราชนะหรือ Win rate ของระบบจะต่ำลง

ประเภทการตัดขาดทุนที่เหมาะสม

สิ่งสำคัญที่สุดคือการเลือกประเภทการตัดขาดทุนที่เหมาะกับหลักการ, เป้าหมาย และจริตในการเทรดของแต่ละคน ประเภทการตัดขาดทุนนั้นมีดังนี้

  1. Dollar Stops ตั้งจุดตัดขาดทุนโดยใช้จำนวนเงินเป็นเกณฑ์ คือการกำหนดว่าเราจะเสียได้เท่าไหร่ในการเทรดแต่ละครั้ง
  2. Percent Retracement ตั้งจุดตัดขาดทุนแบบเปอร์เซ็นต์นั้นเป็นเรื่องพื้นฐานที่เทรดเดอร์แทบทุกคนทำกันอยู่เป็นประจำ ตัวเลขเปอร์เซ็นต์นั้นควรผลมาจากการวิเคราะห์ MEA [Root: แต่กว่าจะมีข้อมูลมาทำการวิเคราะห์นั้นก็ต้องผ่านการเทรดมามากพอสมควร] การหยิบยกเอาตัวเลขลอย ๆ มาใช้นั้นอาจทำให้เราพลาดโอกาสดี ๆ ในการทำกำไรได้
  3. Volatility Stops ตั้งจุดตัดขาดทุนตามความผันผวนของตลาด เป็นการตั้งจุดตัดขาดทุนให้อยู่เหนือสัญญาณรบกวนของตลาดหรือ Noise โดยใช้ ATR เป็นเกณฑ์คำนวณดังที่เคยกล่าวไปแล้ว
  4. Dev-Stops จุดตัดขาดทุนตามค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้ค่าเฉลี่ย ATR 30 วันมาคำนวณ โดยแบ่งจุดตัดขาดทุนออกเป็นสองจุดคือ ATR+1 Standard Deviation+10% Correction factor เป็นจุดขายที่หนึ่ง และ ATR+2 Standard Deviation+20% Correction Factor เป็นจุดขายที่สอง [Root: ผมไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องนี้มากนัก ผู้เขียนอ้างอิงหนังสือที่ชื่อว่า Trading with the Odds ของ Cynthia Kase ซึ่งผมยังไม่เคยอ่าน ]
  5. Channel Breakout and Moving-Average Stops เป็นการกำหนดจุดขายตัดขาดทุนเมื่อเส้น Moving Average สองเส้นตัดกัน [Root: ยกตัวอย่างเช่น SMA 8 วันกับ 21 วัน, ปิดสถานะ Long เมื่อเส้น 8 ตัด 21 ลงและปิดสถานะ Short เมื่อเส้น 8 ตัด 21 ขึ้น เป็นต้น] อีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือการใช้เส้นค่าเฉลี่ยสามเส้นแทนที่จะเป็นสองเส้น ส่วน Channel breakout นั้นใช้การทะลุกรอบที่กำหนดเป็นจุดขายตัดขาดทุน เช่นเมื่อราคาวิ่งไปใกล้กรอบบนแล้วเราเปิด Short ไว้ ถ้าราคาทะลุกรอบก็ปิดสถานะขาดทุนออกไป เป็นต้น
  6. Time Stops เทรดเดอร์บางคนกล่าวว่า ถ้าราคาไม่วิ่งไปในทิศทางที่คาดเดาในเวลาที่กำหนด มันอาจจะไม่ไปทางนั้นเลยก็ได้ ดังนั้นการตัดขายขาดทุนโดยใช้กรอบเวลาจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้กัน วิธีนี้เหมาะสำหรับ Day Trade อาจจะไม่เหมาะกับการลงทุนในระยะยาว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับกรอบเวลาหน้าเทรดของแต่ละคน
  7. Discretionary and Psychological Stops ขายขาดทุนตามดุลยพินิจและจิตวิทยา ทั้งสองอย่างนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ในตลาดที่ยาวนานถึงจะใช้ได้ ดังนั้นไม่แนะนำสำหรับมือใหม่

นอกจากการตัดขายทุนที่กล่าวมาแล้ว ในฐานะมนุษย์ เรามีช่วงเวลาต่าง ๆ ในชีวิตที่ทำให้ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่พร้อมในการเทรด ถ้าเราอยู่ในช่วงเวลาเหล่านี้ ทางที่ดีควรออกจากตลาดไปพักก่อน เช่น เพิ่งหย่าร้าง เพิ่งสูญเสียบุคคลสำคัญในชีวิต เพิ่งมีลูก เพิ่งเปลี่ยนงาน เพิ่งย้ายบ้าน จิตตก ต้องเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ทางกฎหมาย หรือเมื่อตื่นเต้นกับตลาดมากๆ เช่นเห็นดัชนีพุ่งสูงไม่หยุดเป็นต้น

การตัดขาดทุนของระบบที่ได้รับความนิยม

William O’Neil’s CANSLIM Method หลักการนี้ไม่ได้หยิบยกเรื่องจุดขายขาดทุนมาเป็นจุดขาย แต่เป็นข้อแนะนำว่า เราไม่ควรปล่อยให้ขาดทุนเกิน 7 - 8% ในแต่ตัวเลขนี้เป็นการกล่าวถึงการลดลงของราคาหุ้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องของเงินลงทุน

Warren Buffett’s Approach to Investing การลงทุนในแบบของบัฟเฟตต์ นั้นไม่เน้นการขายหุ้นเพราะเป็นการลงทุนในระยะยาวมาก ๆ แต่เขาก็พิจารณาขายหุ้นของบางบริษัทออกไป ซึ่งหลักการนั้นไม่เป็นที่เปิดเผยอย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะเป็นหลักการง่าย ๆ เช่น ราคาลดลงเกิน 25% จากจุดเข้าซื้อเป็นต้น

ส่วนหลักการตัดขาดทุนในส่วนของ Futures นี้ผมขอข้ามไป เนื่องจากอยู่นอกข่ายความสนใจของผม หากท่านใดสนใจก็สามารถหาอ่านเพิ่มเติมจากหนังสือได้

“Saints don’t live on Park Avenue.”
Photo by m. / Unsplash